วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

TGGS ป.โท ป.เอก วิศวกรรมมาตรฐานมหาวิทยาลัยเยอรมัน

วันนี้ผมจะมาเสนอเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับ TGGS ครับ


ซึ่งตามที่ผมเคยเกริ่นไปแล้วใน บทความก่อนหน้านี้ว่า

ข้อมูลที่ผมเสนอผ่านบล็อกนี้เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการจากมุมมองของผมเอง

และบล็อกนี้ก็เป็นบล็อกส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวข้องกับ TGGS

โดยตรง หากท่านใดสนใจรายละเอียด รบกวนให้เข้าไปดู

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ TGGS นะครับ


เอาละครับ คราวนี้ผมจะเสนอข้อมูลเบื้องต้นของ TGGS

ในรูปแบบของคำถามที่พบบ่อยๆ


ถาม: TGGS คืออะไร

ตอบ: TGGS ย่อมาจาก The Sirindhorn International Thai-German Graduate School of Engineering หรือชื่อภาษาไทยว่า บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ สิรินธร ไทย เยอรมัน

เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดรับนักศึกษา ป. โท และ ป. เอก เข้าเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติ 8 สาขา โดยเน้นการจัดรูปแบบการศึกษาและการทำวิจัยตามแนวทางของมหาวิทยาลัย RWTH Aachenประเทศเยอรมนี


ถาม: TGGS เป็นหน่วยงานที่สังกัดมหาวิทยาลัยใด เป็นที่เดียวกับ SIIT (Sirindhorn International Institute of Technology) หรือไม่

ตอบ: TGGS เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือซึ่งเป็นคนละแห่งกับ SIIT ครับ แต่หลายๆคนอาจจะสับสนเพราะชื่อที่คล้ายกันมาก ถ้าจะสังเกตให้เห็นความแตกต่าง ให้ดูที่คำว่า Thai-German ครับ


ถาม: TGGS เป็นความร่วมมือของมจพ. กับมหาวิทยาลัยใดในต่างประเทศ


ตอบ: TGGS เป็นความร่วมมือระหว่างมจพ. กับมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศเยอรมันและของทวีปยุโรป เมื่อเร็วๆนี้ก็ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเยอรมนีด้านวิศวกรรม สำหรับปี 2009 โดยนิตยสาร Wirtschaftswoche ด้วยครับ

RWTH Aachen มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติมากมาย และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนวิจัยในสาขาต่างๆมากที่สุดในประเทศเยอรมนี ทั้งจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม จนได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลเยอรมันให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นดีเลิศของประเทศ (Exzellenzinitiativ)


RWTH Aachen เป็นสมาชิกของกลุ่ม TU9 ซึ่งเป็น 9 มหาวิทยาลัยทางวิศวกรรมชั้นแนวหน้าของประเทศเยอรมนี โดยสมาชิกของ TU9 ได้แก่

RWTH Aachen
TU Berlin
TU Braunschweig
TU Darmstadt
TU Dresden
Leibniz Universität Hannover
Universität Karlsruhe (TH)
TU München
Universität Stuttgart


และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มมหาวิทยาลัยวิศวกรรมชั้นนำของยุโรปที่มีชื่อว่า IDEA League ซึ่งประกอบไปด้วย


Imperial College London
TU Delft
ETH Zurich
RWTH Aachen
ParisTech

อีกด้วย

ถาม: มหาวิทยาลัย RWTH Aachen คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมโครงการ TGGS เป็นการเปิดสาขาในเอเชียเพื่อหารายได้จากค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาไทยใช่หรือไม่

มหาวิทยาลัย RWTH Aachen ไม่มีความสนใจในรายได้ที่ได้จากค่าเล่าเรียนของนักศึกษา หาก TGGS มีรายได้ในส่วนนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาและวิจัยของ TGGS เองต่อไป มหาวิทยาลัย RWTH Aachen ได้ตกลงที่จะเข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตวิทยาลัยทางวิศวกรรมศาสตร์ตามแบบอย่างของมหาวิทยาลัยเยอรมัน ในประเทศไทย โดยมุ่งหวังที่จะทำให้มหาวิทยาลัย RWTH Aachen เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ ถึงความเป็นมหาวิทยาลัยทางวิศวกรรมชั้นนำของโลก เทียบได้กับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ และ อเมริกา และสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากยิ่งขึ้น

ถาม: มหาวิทยาลัย RWTH Aachen และมจพ. ให้ความสนับสนุนอะไรในโครงการ TGGS


ตอบ: RWTH Aachen ให้ความสนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย และเนื้อหาวิชาบางวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอน ส่วนมจพ. ให้ความสนับสนุนในด้านอาคารสถานที่สำหรับการเรียนการสอนและการวิจัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำของ TGGS

ถาม: ทำไม TGGS จึงรับเฉพาะนักศึกษา ป.โท และ ป.เอก เท่านั้น ไม่รับนักศึกษาระดับ ป.ตรี

ตอบ: การศึกษาวิศวกรรมระดับป.ตรีเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการออกไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษา อย่างไรก็ตาม การทำงานด้านวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ต้องการบุคคลากรที่มีความรู้และทักษะวิศวกรรมในระดับสูง TGGS มุ่งที่จะสร้างวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถในระดับนานาชาติ เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศไทยที่สามารถวิเคราะห์ และแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ในอีกด้านหนึ่ง นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาป.ตรีในประเทศไทย และตั้งใจจะศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมากยังนิยมไปศึกษาต่อในต่างประเทศซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง ปัจจุบัน TGGS ถือได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่มุ่งมั่นจะศึกษาเทคโนโลยีวิศวกรรมที่ทันสมัย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และไม่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัวที่ประเทศไทย แต่มีคุณภาพการศึกษาทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ


TGGS เปิดรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับป.ตรี โดยมุ่งที่จะรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี และมีศักยภาพสูงในการทำวิจัย รวมทั้งแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม มากกว่าที่จะรับนักศึกษาเข้ามาเพื่อหารายได้จากค่าเล่าเรียน ในปีที่ผ่านมา TGGS มีทุนการศึกษาเพื่อเรียนป.โทให้กับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีในระดับป.ตรีมาโดยตลอด
นส่วนของผู้เขียน หากนักศึกษาป.ตรีคนไหนที่กำลังเรียนอยู่ปี 3 หรือปี 4 ในคณะวิศวกรรม ภาคไฟฟ้า โทรคมนาคม อิเล็กโทรนิกส์ หรือ คอมพิวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยใดก็ตามสนใจที่จะศึกษาต่อ ป.โท นานาชาติสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม เพื่อเรียนรู้การทำวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และศึกษาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในด้านนี้สามารถติดต่อผู้เขียนในเรื่องการสมัครเรียนต่อหรือขอทุนเรียนที่ TGGS ได้ที่ suramate.ch@gmail.com ครับ สำหรับคนที่เรียนตรีปี 4 แล้ว รีบติดต่อมาก็ดีครับ (ประมาณไม่เกินเดือนพ.ย.) จะได้คุยเรื่องทุนกันไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ

สำหรับผู้ที่ต้องการประสบการณ์เรียนและทำวิจัยในต่างประเทศ TGGS เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ได้ไปทำวิจัยที่ประเทศเยอรมนีในช่วงของการฝึกงานและวิทยานิพนธ์ เนื่องจาก TGGS เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับแหล่งทุนการศึกษาจากประเทศเยอรมนี เช่น DAAD


ถาม: เรียนจบที่ TGGS จะได้รับปริญญาแบบ joint degree จากมหาวิทยาลัย RWTH Aachen หรือไม่

ในขณะนี้ ผู้จบการศึกษาจาก TGGS จะได้รับปริญญาของ TGGS ภายใต้มจพ. ในอนาคต TGGS มีแผนการที่จะให้ปริญญาแบบ Joint degree กับม. RWTH Aachen ต่อไป อย่างไรก็ตามคุณภาพการศึกษาที่ TGGS มีการควบคุมอย่างเคร่งครัดอยู่ตลอดเพื่อให้การยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่ Joint degree ในที่สุด


สำหรับในวิชาที่ผู้เขียนเองทำการสอนอยู่ ก็ใช้เนื้อหาวิชาและเอกสารการสอนเหมือนกันกับที่ใช้ที่ RWTH Aachen โดยสมบูรณ์


ถาม: ลักษณะของการทำงานวิจัยที่ TGGS เป็นอย่างไร

ตอบ: เป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งคิดค้นนวตกรรมใหม่ๆ โดยผมมั่นใจจากการที่ได้ศึกษาในต่างประเทศว่า งานวิจัยที่เอาไปใช้ได้จริง และนำไปเขียนเป็นบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ (Publications) ได้ด้วยนั้นเป็นไปได้จริงๆ และเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในวงการวิชาการของประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยก็เช่นกันครับ

ถาม: รูปแบบการจัดการศึกษา การทำวิจัย และการบริหารจัดการของ TGGS ซึ่งใช้รูปแบบตามมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมนี มีลักษณะเด่นอย่างไร

ตอบ: TGGS เป็นหน่วยงานอิสระของมจพ. ที่มีการบริหารจัดการอย่างคล่องตัวตามรูปแบบของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมนี อาจารย์แต่ละท่านจะเป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยในสาขาความเชี่ยวชาญของตนเอง (อาจเรียกได้ว่าสถาบันวิจัยย่อยๆแบบ One research institute, one expertise) ซึ่งอาจารย์จะดูแลนักศึกษาป.โท และ ป.เอก โดยนักศึกษาป.เอกจะทำวิจัยในโครงการที่หามาจากแหล่งทุนภายนอก (บริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการเช่น สกว. สวทช. สภาวิจัยแห่งชาติรวมทั้งบริษัทและหน่วยงานในต่างประเทศ)

นักศึกษาป.เอกจะทำหน้าที่ดูแลนักศึกษาป.โทที่ทำวิทยานิพนธ์อย่างใกล้ชิด โดยจะแบ่งส่วนของงานโครงการวิจัยที่รับผิดชอบมากำหนดเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ป.โท ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้นักศึกษาป.เอกของ TGGS ได้ฝึกหัดการบริหารโครงการและทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ โครงสร้างการบริหารที่มีลำดับชั้น (Heirachy) น้อยของ TGGS ทำให้ TGGS มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการสูง คล้ายกับบริษัทเอกชน

ถาม: ใครจะได้ประโยชน์จากโครงการ TGGS

ตอบ: ผู้ศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัย

ผู้ศึกษาได้ศึกษาจากงานที่จะนำไปใช้เชิงพาณิชย์จริง ผลที่ได้คือการสร้างองค์ความรู้ที่มีมูลค่าในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาเป็นที่ต้องการจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้ทำงานในโครงการวิจัยของภาคอุตสาหกรรม รับรู้ถึงปัญหา และความต้องการของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ตอนเรียนและมีความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติที่เข้มแข็งเทียบเคียงกับผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเพราะผ่านการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยได้ประโยชน์ทางด้านวิชาการ ในรูปของบทความ สิ่งประดิษฐ์ นวตกรรม และทุนวิจัย

วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง ยังไงจะเขียนถึงในโอกาสต่อไป



















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับฉัน

Dr.-Ing. Suramate Chalermwisutkul
• Dipl.-Ing. and Dr.-Ing. degrees from RWTH Aachen University, Aachen, Germany
• Position: Permanent Lecturer/ Researcher, TGGS/CE
• Affiliation: The Sirindhorn International Thai-German Graduate School of Engineering

Work experience:
• Research assistant at the Institute of Electromagnetic Field Theory, RWTH Aachen University
• Researcher at Bell Labs Europe, Alcatel-Lucent (one patent)
Powered By Blogger

ผู้ติดตาม