วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

TGGS ป.โท ป.เอก วิศวกรรมมาตรฐานมหาวิทยาลัยเยอรมัน

วันนี้ผมจะมาเสนอเกร็ดเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับ TGGS ครับ


ซึ่งตามที่ผมเคยเกริ่นไปแล้วใน บทความก่อนหน้านี้ว่า

ข้อมูลที่ผมเสนอผ่านบล็อกนี้เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการจากมุมมองของผมเอง

และบล็อกนี้ก็เป็นบล็อกส่วนตัวของผม ไม่เกี่ยวข้องกับ TGGS

โดยตรง หากท่านใดสนใจรายละเอียด รบกวนให้เข้าไปดู

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ TGGS นะครับ


เอาละครับ คราวนี้ผมจะเสนอข้อมูลเบื้องต้นของ TGGS

ในรูปแบบของคำถามที่พบบ่อยๆ


ถาม: TGGS คืออะไร

ตอบ: TGGS ย่อมาจาก The Sirindhorn International Thai-German Graduate School of Engineering หรือชื่อภาษาไทยว่า บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ สิรินธร ไทย เยอรมัน

เป็นสถาบันการศึกษาที่เปิดรับนักศึกษา ป. โท และ ป. เอก เข้าเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ นานาชาติ 8 สาขา โดยเน้นการจัดรูปแบบการศึกษาและการทำวิจัยตามแนวทางของมหาวิทยาลัย RWTH Aachenประเทศเยอรมนี


ถาม: TGGS เป็นหน่วยงานที่สังกัดมหาวิทยาลัยใด เป็นที่เดียวกับ SIIT (Sirindhorn International Institute of Technology) หรือไม่

ตอบ: TGGS เป็นหน่วยงานในกำกับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือซึ่งเป็นคนละแห่งกับ SIIT ครับ แต่หลายๆคนอาจจะสับสนเพราะชื่อที่คล้ายกันมาก ถ้าจะสังเกตให้เห็นความแตกต่าง ให้ดูที่คำว่า Thai-German ครับ


ถาม: TGGS เป็นความร่วมมือของมจพ. กับมหาวิทยาลัยใดในต่างประเทศ


ตอบ: TGGS เป็นความร่วมมือระหว่างมจพ. กับมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศเยอรมันและของทวีปยุโรป เมื่อเร็วๆนี้ก็ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเยอรมนีด้านวิศวกรรม สำหรับปี 2009 โดยนิตยสาร Wirtschaftswoche ด้วยครับ

RWTH Aachen มีผลงานวิจัยระดับนานาชาติมากมาย และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนวิจัยในสาขาต่างๆมากที่สุดในประเทศเยอรมนี ทั้งจากภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม จนได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลเยอรมันให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นดีเลิศของประเทศ (Exzellenzinitiativ)


RWTH Aachen เป็นสมาชิกของกลุ่ม TU9 ซึ่งเป็น 9 มหาวิทยาลัยทางวิศวกรรมชั้นแนวหน้าของประเทศเยอรมนี โดยสมาชิกของ TU9 ได้แก่

RWTH Aachen
TU Berlin
TU Braunschweig
TU Darmstadt
TU Dresden
Leibniz Universität Hannover
Universität Karlsruhe (TH)
TU München
Universität Stuttgart


และยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มมหาวิทยาลัยวิศวกรรมชั้นนำของยุโรปที่มีชื่อว่า IDEA League ซึ่งประกอบไปด้วย


Imperial College London
TU Delft
ETH Zurich
RWTH Aachen
ParisTech

อีกด้วย

ถาม: มหาวิทยาลัย RWTH Aachen คาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมโครงการ TGGS เป็นการเปิดสาขาในเอเชียเพื่อหารายได้จากค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาไทยใช่หรือไม่

มหาวิทยาลัย RWTH Aachen ไม่มีความสนใจในรายได้ที่ได้จากค่าเล่าเรียนของนักศึกษา หาก TGGS มีรายได้ในส่วนนี้จะนำไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาและวิจัยของ TGGS เองต่อไป มหาวิทยาลัย RWTH Aachen ได้ตกลงที่จะเข้าร่วมโครงการสร้างบัณฑิตวิทยาลัยทางวิศวกรรมศาสตร์ตามแบบอย่างของมหาวิทยาลัยเยอรมัน ในประเทศไทย โดยมุ่งหวังที่จะทำให้มหาวิทยาลัย RWTH Aachen เป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติ ถึงความเป็นมหาวิทยาลัยทางวิศวกรรมชั้นนำของโลก เทียบได้กับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ และ อเมริกา และสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัยกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากยิ่งขึ้น

ถาม: มหาวิทยาลัย RWTH Aachen และมจพ. ให้ความสนับสนุนอะไรในโครงการ TGGS


ตอบ: RWTH Aachen ให้ความสนับสนุนด้านเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย และเนื้อหาวิชาบางวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอน ส่วนมจพ. ให้ความสนับสนุนในด้านอาคารสถานที่สำหรับการเรียนการสอนและการวิจัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำของ TGGS

ถาม: ทำไม TGGS จึงรับเฉพาะนักศึกษา ป.โท และ ป.เอก เท่านั้น ไม่รับนักศึกษาระดับ ป.ตรี

ตอบ: การศึกษาวิศวกรรมระดับป.ตรีเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการออกไปประกอบอาชีพหลังจากจบการศึกษา อย่างไรก็ตาม การทำงานด้านวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ต้องการบุคคลากรที่มีความรู้และทักษะวิศวกรรมในระดับสูง TGGS มุ่งที่จะสร้างวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถในระดับนานาชาติ เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนบุคคลากรทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศไทยที่สามารถวิเคราะห์ และแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ในอีกด้านหนึ่ง นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาป.ตรีในประเทศไทย และตั้งใจจะศึกษาต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงจำนวนมากยังนิยมไปศึกษาต่อในต่างประเทศซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง ปัจจุบัน TGGS ถือได้ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่มุ่งมั่นจะศึกษาเทคโนโลยีวิศวกรรมที่ทันสมัย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และไม่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัวที่ประเทศไทย แต่มีคุณภาพการศึกษาทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ


TGGS เปิดรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในระดับป.ตรี โดยมุ่งที่จะรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี และมีศักยภาพสูงในการทำวิจัย รวมทั้งแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม มากกว่าที่จะรับนักศึกษาเข้ามาเพื่อหารายได้จากค่าเล่าเรียน ในปีที่ผ่านมา TGGS มีทุนการศึกษาเพื่อเรียนป.โทให้กับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีในระดับป.ตรีมาโดยตลอด
นส่วนของผู้เขียน หากนักศึกษาป.ตรีคนไหนที่กำลังเรียนอยู่ปี 3 หรือปี 4 ในคณะวิศวกรรม ภาคไฟฟ้า โทรคมนาคม อิเล็กโทรนิกส์ หรือ คอมพิวเตอร์ ของมหาวิทยาลัยใดก็ตามสนใจที่จะศึกษาต่อ ป.โท นานาชาติสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม เพื่อเรียนรู้การทำวิจัย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และศึกษาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในด้านนี้สามารถติดต่อผู้เขียนในเรื่องการสมัครเรียนต่อหรือขอทุนเรียนที่ TGGS ได้ที่ suramate.ch@gmail.com ครับ สำหรับคนที่เรียนตรีปี 4 แล้ว รีบติดต่อมาก็ดีครับ (ประมาณไม่เกินเดือนพ.ย.) จะได้คุยเรื่องทุนกันไว้ก่อนแต่เนิ่นๆ

สำหรับผู้ที่ต้องการประสบการณ์เรียนและทำวิจัยในต่างประเทศ TGGS เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ได้ไปทำวิจัยที่ประเทศเยอรมนีในช่วงของการฝึกงานและวิทยานิพนธ์ เนื่องจาก TGGS เป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับแหล่งทุนการศึกษาจากประเทศเยอรมนี เช่น DAAD


ถาม: เรียนจบที่ TGGS จะได้รับปริญญาแบบ joint degree จากมหาวิทยาลัย RWTH Aachen หรือไม่

ในขณะนี้ ผู้จบการศึกษาจาก TGGS จะได้รับปริญญาของ TGGS ภายใต้มจพ. ในอนาคต TGGS มีแผนการที่จะให้ปริญญาแบบ Joint degree กับม. RWTH Aachen ต่อไป อย่างไรก็ตามคุณภาพการศึกษาที่ TGGS มีการควบคุมอย่างเคร่งครัดอยู่ตลอดเพื่อให้การยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคงในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่ Joint degree ในที่สุด


สำหรับในวิชาที่ผู้เขียนเองทำการสอนอยู่ ก็ใช้เนื้อหาวิชาและเอกสารการสอนเหมือนกันกับที่ใช้ที่ RWTH Aachen โดยสมบูรณ์


ถาม: ลักษณะของการทำงานวิจัยที่ TGGS เป็นอย่างไร

ตอบ: เป็นการวิจัยเพื่อตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งคิดค้นนวตกรรมใหม่ๆ โดยผมมั่นใจจากการที่ได้ศึกษาในต่างประเทศว่า งานวิจัยที่เอาไปใช้ได้จริง และนำไปเขียนเป็นบทความทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ (Publications) ได้ด้วยนั้นเป็นไปได้จริงๆ และเป็นที่แพร่หลายอย่างมากในวงการวิชาการของประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศไทยก็เช่นกันครับ

ถาม: รูปแบบการจัดการศึกษา การทำวิจัย และการบริหารจัดการของ TGGS ซึ่งใช้รูปแบบตามมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมนี มีลักษณะเด่นอย่างไร

ตอบ: TGGS เป็นหน่วยงานอิสระของมจพ. ที่มีการบริหารจัดการอย่างคล่องตัวตามรูปแบบของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศเยอรมนี อาจารย์แต่ละท่านจะเป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยในสาขาความเชี่ยวชาญของตนเอง (อาจเรียกได้ว่าสถาบันวิจัยย่อยๆแบบ One research institute, one expertise) ซึ่งอาจารย์จะดูแลนักศึกษาป.โท และ ป.เอก โดยนักศึกษาป.เอกจะทำวิจัยในโครงการที่หามาจากแหล่งทุนภายนอก (บริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการเช่น สกว. สวทช. สภาวิจัยแห่งชาติรวมทั้งบริษัทและหน่วยงานในต่างประเทศ)

นักศึกษาป.เอกจะทำหน้าที่ดูแลนักศึกษาป.โทที่ทำวิทยานิพนธ์อย่างใกล้ชิด โดยจะแบ่งส่วนของงานโครงการวิจัยที่รับผิดชอบมากำหนดเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ป.โท ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้นักศึกษาป.เอกของ TGGS ได้ฝึกหัดการบริหารโครงการและทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ โครงสร้างการบริหารที่มีลำดับชั้น (Heirachy) น้อยของ TGGS ทำให้ TGGS มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการสูง คล้ายกับบริษัทเอกชน

ถาม: ใครจะได้ประโยชน์จากโครงการ TGGS

ตอบ: ผู้ศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัย

ผู้ศึกษาได้ศึกษาจากงานที่จะนำไปใช้เชิงพาณิชย์จริง ผลที่ได้คือการสร้างองค์ความรู้ที่มีมูลค่าในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาเป็นที่ต้องการจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากได้ทำงานในโครงการวิจัยของภาคอุตสาหกรรม รับรู้ถึงปัญหา และความต้องการของภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่ตอนเรียนและมีความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติที่เข้มแข็งเทียบเคียงกับผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีเพราะผ่านการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยได้ประโยชน์ทางด้านวิชาการ ในรูปของบทความ สิ่งประดิษฐ์ นวตกรรม และทุนวิจัย

วันนี้พอแค่นี้ก่อนนะครับ ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง ยังไงจะเขียนถึงในโอกาสต่อไป



















วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แนะนำตัวเจ้าของบล็อก และที่มาของบล็อกนี้

สวัสดีครับ


ผมขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมชื่อ สุรเมธ เฉลิมวิสุตม์กุล ผมไปเรียนวิศวะไฟฟ้า ตั้งแต่ ป.ตรี ถึง ป.เอก ที่ มหาวิทยาลัย

RWTH Aachen ประเทศเยอรมนีตั้งแต่ปี 2535 ถึงปี 2550 ด้วยทุนรัฐบาลไทย

ตอนนี้ผมทำงานเป็นอาจารย์และนักวิจัยสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคมของ TGGS ครับ โดยเน้นหนักการทำอุปกรณ์การสื่อสารไร้สาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทวงจรสัญญาณความถี่วิทยุ (Radio frequency หรือ RF Circuits)

ถ้าจะถามว่า TGGS คืออะไร อยู่ที่ไหน คงต้องคุยกันอีกยาวทีเดียวซึ่งผมจะเขียนถึงในโอกาสต่อไป



เหตุผลที่ผมทำบล็อกนี้ขึ้นมาก็เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้กับนักศึกษาปัจจุบันที่เรียนกับผมที่ TGGS เช่นนัดวันเวลาเรียน การบ้าน วันสอบ เรื่องแจ้งให้ทราบ งานวิจัย ฯลฯ


นอกจากนั้นก็สำหรับผู้สนใจทั่วๆไปที่จะมีโอกาสสมัครเข้ามาเรียน หรือเป็นนักวิจัยใน Lab ของผมที่ TGGS เพื่อจะได้เห็นและมีไอเดียคร่าวๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังทำ ความพร้อมเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือ วิสัยทัศน์และพันธกิจของวิศวกรรมโทรคมนาคม TGGS หลายๆท่านคงมีคำถามว่า ทำไมผมจึงใช้ช่องทางนี้ในการพูดคุย แทนที่จะแจ้งข้อมูลต่างๆ

ผ่านเว็บที่เป็นทางการของ TGGS คำตอบก็คือ เนื่องจากผมต้องการพูดคุยอย่าง"ไม่เป็นทางการ" กับท่านนั่นเอง ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลต่างๆที่ผมเขียนลงในบล็อกนี้ก็เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นทางการ หากต้องการข้อมูลที่เป็นทางการก็คงต้องนัดพูดคุยกันอีกครั้ง หรือเข้ามาที่ TGGS เลยก็แล้วแต่นะครับ



อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมทำบล็อกนี้ขึ้นก็เพราะอยากจะพูดถึงงานที่ผมทำที่ TGGS เป็นภาษาไทยบ้าง เนื่องจาก TGGS เองเป็นบัณฑิตวิทยาลัยนานาชาติ มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เว็บที่เป็นทางการก็เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ผู้สนใจส่วนมากอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง

สำหรับวันนี้คงแค่นี้ก่อนนะครับ ขอบคุณทุกท่านที่สนใจเข้ามาอ่าน ผมจะพยายามมา Update บ่อยๆ

ขออภัยถ้าผมใช้ภาษาไทยปนอังกฤษบ่อยๆ เพราะคิดว่าน่าจะสื่อสารได้ตรงจุดกว่าในบางกรณี ต้องขออภัยอาจารย์ภาษาไทยทุกท่านของผมด้วย เชื่อไหมครับว่าตอนเรียนประถม และมัธยม วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่ผมชอบที่สุดวิชาหนึ่งเลยละครับ

เกี่ยวกับฉัน

Dr.-Ing. Suramate Chalermwisutkul
• Dipl.-Ing. and Dr.-Ing. degrees from RWTH Aachen University, Aachen, Germany
• Position: Permanent Lecturer/ Researcher, TGGS/CE
• Affiliation: The Sirindhorn International Thai-German Graduate School of Engineering

Work experience:
• Research assistant at the Institute of Electromagnetic Field Theory, RWTH Aachen University
• Researcher at Bell Labs Europe, Alcatel-Lucent (one patent)
Powered By Blogger

ผู้ติดตาม